วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

แก้ปัญหาน้ำไม่ควรลืมหญ้าแฝก - ทิศทางเกษตร




นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 5 ณ เมืองลัคเนา สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2554 ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอผลงานของนักวิชาการจากหลายประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาและมีการปลูกแฝก มีข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ และหลายด้านเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาส่งเสริมและสนับสนุนให้นำมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นในประเทศไทย
เช่น การปลูกแฝกเพื่อป้องกันดินถล่ม ในพื้นที่ที่มีความลาดชัน เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่ติดถนนที่เป็นการนำวิธีการป้องกันดินถล่มริมทาง โดยร่วมกับทางวิศวกรรม เช่น มีการวางตาข่ายหรือปูกระสอบป่านแล้วปลูกหญ้าแฝกลงไป ซึ่งก็เป็นเทคนิคใหม่ที่ควรจะนำมาใช้ในประเทศไทย บางประเทศมีการปลูกแฝกเพื่อป้องกันน้ำทะเลเซาะชายหาด เช่น ออสเตรเลีย และประเทศทางแถบแอฟริกา ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ เช่น ภาคใต้ของประเทศไทยที่เคยเกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา
“ที่ประเทศอินเดีย ประชาชนรู้จักหญ้าแฝกมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยต้นพุทธกาล แต่เขาจะเน้นเรื่องการปลูกแฝกเพื่อทำเครื่องหอม น้ำหอม และเครื่องเทศต่างๆ แต่ตอนหลังประมาณ 200 กว่าปีมานี้เขาก็เริ่มสนใจเรื่องการปลูกแฝกเพื่อการป้องกันดินถล่ม เช่น การป้องกันการชะล้างของหน้าดิน ขณะที่การนำหญ้าแฝกมาทำสมุนไพร ทำน้ำหอม ก็ยังคงทำอยู่ ซึ่งนักวิชาการไทยก็คิดจะนำมาทดลองทำ หรือปลูกในบ้านเราบ้าง” นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวองคมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า การสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 5 นี้ มีผู้เข้าร่วมจากนานาชาติประมาณ 300 คน โดยสถาบันสมุนไพรและพืช เป็นเจ้าภาพ ภายใต้หัวข้อ “หญ้าแฝกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราช
สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สนับสนุนการจัดการประชุม พร้อมทั้งเสด็จฯ เปิดการประชุม และพระราชทานรางวัล “The King of Thailand Vetiver Awards 2011” แก่ผู้ชนะเลิศผลงานวิจัยด้านหญ้าแฝกจากประเทศไทย อินเดีย ออสเตรเลีย มาดากัสการ์ เวเนซุเอลา และจีน ภายในงานสัมมนาฯ ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานการรณรงค์ปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำจากนักวิชาการไทยและต่างชาติ รวมทั้งมีการสาธิตและฝึกอบรมการทำหัตถกรรมจากหญ้าแฝกซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจำนวนมาก
“ปีนี้ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการรณรงค์การใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝก ก็จะนำเรื่องหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยอย่างเต็มที่ โดยนำเอาผลสรุปจากการสัมมนาในครั้งนี้ นับตั้งแต่การนำหญ้าแฝกมาช่วยในการป้องกันการพังทลายหน้าดิน การป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายฝั่งทะเลของคลื่น ไปจนถึง การใช้หญ้าแฝกเป็นแนวกำหนดเส้นทางน้ำ เพื่อการระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก ซึ่งเป็นกำแพงธรรมชาติตาม พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการแก้ไขและป้องกันน้ำท่วม และการสกัดน้ำมันหอมจากราก หญ้าแฝกหอม โดยจะร่วมมือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในแต่ละ พื้นที่อย่างกว้างขวาง เพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกหญ้าแฝกมากขึ้นต่อไป” นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าว
หญ้าแฝกเป็นพืชพื้นบ้าน พบได้ทั่วไปในประเทศไทย เป็นพืชที่คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์มาตั้งแต่โบราณ โดยใช้มุงหลังคา จนมีคำกล่าวติดปากว่า “หลังคามุงแฝก” ตับแฝกที่ใช้มุงหลังคาในสมัยดั้งเดิมนั้น จะใช้หญ้าแฝกนำมาเย็บเข้าเป็นเพื่อมุงหลังคา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ จึงได้มีหน่วยงานต่าง ๆ สนองพระราชดำริของพระองค์เพื่อดำเนินการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องการใช้ประโยชน์ของหญ้าแฝก ทำให้เกิดการตื่นตัวกันทั่วประเทศ ในอันที่จะนำหญ้าแฝกที่มีแพร่กระจายอยู่ทั่วไป กลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งหนึ่ง
โดยเฉพาะในการแก้ไขปัญหาที่มาจากเรื่องน้ำทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม และดินถล่ม ฉะนั้นจึงไม่ควรลืมหญ้าแฝกกับการนำมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้.

ขอบคุณ:http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น